วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดโชว์ผลงานเด่น ประจำปี 2562


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดโชว์ผลงานเด่น ประจำปี 2562 และผลงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัย และเผยทิศทางการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 เน้นตอบโจทย์ BCG มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0

วันที่ 26 ธันวาคม 2562 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี “โชว์ผลงานเด่น ประจำปี 2562” พร้อมมอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณและแสดงความขอบคุณนักวิจัยที่เข้าร่วมงานประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับ


ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “วช. ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน และบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอว. ในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์
ท้าทายของสังคม การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลสัมฤทธิ์  มีผลการดำเนินงานที่เกิด impact สูงต่อเศรษฐกิจและสังคม มีการริเริ่มงานใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ”
“โดย วช. มีความพร้อมและยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่ด้วยหลัก วช. 5G เป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว พร้อมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม


บทบาท PMU ในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม
PMU เป็นกลไลสำคัญในการบริหารงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ ววน. ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารจัดการทุนภายใต้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการให้ทุนเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบ
ในการบริหารจัดการทุนในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ถือเป็นมิติใหม่ของการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม เป็นแบบ Streamline Process คือ ใช้ระบบ Online 100% มีกลไก Outcome Delivery Units (OUD) เชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เป็นการให้ทุนแบบ Program Funding และ Matching fund กับภาคเอกชน รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผล โดยทุกภารกิจมีการเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน “


“นอกจากการบริหารงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแล้ว การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยฯ ที่ตอบเป้าหมายประเทศ มีกลไกการสร้างแรงจูงใจ ทั้งในเชิงการให้รางวัลแก่นักวิจัยในทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักวิจัยรุ่นเยาว์ นักวิจัย
รุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยอาวุโส โดยมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนนักวิจัยไม่น้อยกว่า 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2564 และ 60 คน ต่อ 10,000 คน ในปี 2579”


วช. พร้อมเป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติกับระบบสารสนเทศของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะ และ Artificial Intelligent (AI) ที่สามารถแสดงผลได้ทุกมิติในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนับสนุน การตัดสินใจเชิงบริหาร และการใช้ข้อมูลร่วมกัน โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกต่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย



การดำเนินงานระบบข้อมูลสารสนเทศกลางด้าน ววน. ในปีงบประมาณ 2562 ได้มีการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการกำหนด Road Map และ Time line ในการดำเนินงาน รวมถึงมาตรฐานและชุดข้อมูลเพื่อการเชื่องโยง และออกแบบระบบฐานข้อมูลกลางและระบบให้บริการข้อมูล โดยคาดหวังว่าเมื่อศูนย์กลางข้อมูล ววน. ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะเกิดประโยชน์ต่อประชาคมในระบบวิจัย “วิจัยไทยใช้ได้จริง”


วช. ได้สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้ อาทิ
• โครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” โดยการขับเคลื่อนแผนบูรณาการให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงการขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชน สามารถเพิ่มทรัพยากรในทะเลให้มากขึ้น ทำให้ชาวประมงมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้วจำนวน 531 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด
• ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำ Platform ที่มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เป็นมาตราฐานเดียวกัน
• การปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา เป็นความสำเร็จในส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไทยไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี  จากเดิมประเทศไทยมีปัญหาการส่งออกมะม่วงสุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีการบริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร จนได้คุณภาพดีตามข้อกำหนดเพื่อให้แน่ใจว่าผลไม้ที่นำเข้าประเทศจะปลอดภัยและไม่มีเชื้อโรคหรือแมลงพาหะปนเปื้อน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ BCG Model โดยประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงล็อตแรกแล้วเมื่อวันที่ 17 – 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา


การสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าสู่เวทีนานาชาติเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ของ วช. ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ได้ก้าวสู่เวทีระดับสากลอันจะเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัย  นักประดิษฐ์นานาชาติ และพัฒนายกระดับศักยภาพของนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ตลอดจนการสร้างขวัญกำลังใจ ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดโลกให้มากยิ่งขึ้น จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และได้รับความสนใจจากนานาประเทศเป็นอย่างยิ่ง


พร้อมยกระดับมาตราฐานห้องปฏิบัติการ สู่การขับเคลื่อนมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล โดยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation) จำนวน 240 ห้องปฏิบัติการ และบุคคลากรได้รับการพิจรณา ประกอบด้วย มีผู้ประเมิน มอก. 41 คน และผู้ประเมินตามเกณฑ์ (peer evaluation) 57 คน
โครงการวิจัยท้าทายไทย : การวิจัยมุ่งเป้าเพื่อประชาชน
วช. ได้สนับสนุนโครงการวิจัยท้าทายไทย ซึ่งเป็นการวิจัยที่แก้ปัญหาท้าทายของประเทศ ตัวอย่างของผลสำเร็จจากโครงกานวิจัยท้าทายไทย เช่น ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Grand Challenges Thailand : Fluke Free Thailand) ซึ่ง วช. ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Cholangiocarcinoma Screening and Café program : CASCAP) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ผ่านโครงการวิจัยการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อศึกษาในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกฉียงเหนือแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีอย่างทันเวลา ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายนวัตกรรมที่ได้ไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่ทำให้เกิดการระบาดกลับมายังประเทศไทย


ทางด้านวิจัยเพื่อผลิตดอกออกผล วช. ได้ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น “เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้ง” เป็นเครื่องอบแห้งขนาดเล็ก ที่ช่วยลดระยะเวลาและพื้นที่ตากผลผลิตทางการเกษตร โดย วช. ได้มอบเครื่องดังกล่าวให้แก่เกษตรกร ใน 17 จังหวัด ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดี ลดระยะเวลาการผลิตและความเสี่ยงในการผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศ


เชื่อมไทยเชื่อมโลกด้วยงานวิจัย
วช. ได้มีการขับเคลื่อนเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ (ไทย-จีน) ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)”  โดย วช. ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสองประเทศ โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย นอกจากนี้ วช. ยังได้ร่วมจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิดัลหนึ่งแถบหนึ่งหนึ่งเส้นทาง (DBAR) กรุงเทพฯ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน  (CAS) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาค และพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการวิจัยและบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ วช. ยังมีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง วช. และ Korea Institute of Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP) สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้ร่วมผลักดันการวิจัยที่ตอบโจทย์นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่นำผลการวิจัยแก้ไขปัญหาชาติ และสร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคอาเซียนโดยใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิยุทธศาสตร์ นอกจากนี้  ยังส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นเลิศจากสาธารณรัฐเกาหลี


ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา วช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าสู่เวทีนานาชาติในระดับโลก ปี 2562 ที่ผ่านมานักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติใน 2 เวที คือ เวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเวที “Seoul International Invention Fair 2019” (SIIF 2019) ระหว่างวันที่  27 – 30 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

cr: บดินทร์ นิลมานนท์
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย(สภท.55ปี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น