วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ร้อยเอ็ด ชลประทานที่ 6 เพิ่มการระบายน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด เติมเขื่อนยโสธร ช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคพื้นที่ชีตอนล่าง และเกษตรกรนาปรัง


          ร้อยเอ็ด ชลประทานที่ 6  เพิ่มการระบายน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด เติมเขื่อนยโสธร ช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคพื้นที่ชีตอนล่าง และเกษตรกรนาปรัง
               เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563   นายชาญวิทย์ กัณหะยุวะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6  เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำ ที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่าง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 6 ,7 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


           นายชาญวิทย์ กัณหะยุวะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6  เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 จัดประชุมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางมาตรการร่วมบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี ไม่ให้ส่งผลกระทบการขาดแคลนน้ำ สำหรับการอุปโภค บริโภค ระบบนิเวศน์ และทุกกิจกรรมการใช้น้ำ โดยเฉพาะภาคการเกษตร คือ การทำนาปรังของเกษตรกร ให้มีความเป็นเอกภาพ  ขณะนี้มีการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด กว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเกษตรกรนาปรังร้อยเอ็ด และเติมหน้าเขื่อนยโสธร ช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร และอุบลราชธานี  เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี ทั้ง 6 เขื่อน (เขื่อนชนบท,เขื่อนมหาสารคาม, เขื่อนวังยาง, เขื่อนร้อยเอ็ด,เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยเฉพาะที่หน้าเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 7 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อน +122.30 เมตรต่อระดับน้ำทะเลปานกลาง ปริมาณน้ำวันนี้ 4.51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23.88 ของความจุ คาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงที่น้ำจะไม่เพียงพอสำหรับ การอุปโภค บริโภค และการทำนาปรังของเกษตรกร ที่ ได้ทำนาปรังชดเชยกรณีนาปี ถูกน้ำท่วมจากวิกฤติพายุโพดุล และคาจิกิ  สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ดสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาค สาขา ยโสธร โดยเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด จากเดิมวันละ 25 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือ วันละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็นวันละ 35 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือวันละ 3.02 ล้าน ลบ.ม. เป็นระยะเวลา 6 วัน (เริ่มตั้งแต่ วันที่ 20 ก.พ. - 25 ก.พ.63) รวมปริมาณน้ำที่เขื่อนร้อยเอ็ดจะระบายไปเติมหน้าเขื่อนยโสธรประมาณ 5.2 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพิ่มระดับน้ำหน้าเขื่อนยโสธรและรักษาเก็บกักที่ +123.00 เมตรต่อระดับน้ำทะเลปานกลาง จากปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +122.30  เมตรต่อระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคสาขายโสธร และแม่น้ำชีตอนล่าง พื้นที่จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจากการประเมินความต้องการใช้น้ำแล้วคาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน




             นายชาญวิทย์ กัณหะยุวะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6  กล่าวอีกว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 และสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ร่วมกันวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชีตอนล่าง ควบคุมการส่งน้ำแบบรอบเวร รวมถึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้
/////
คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น