วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน


เสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน

ประเด็นเกาะติดโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ระดับ "เมกะโปรเจค" ที่ไม่ได้มีแค่ "อีอีซี" แต่ยังมีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จังหวัดสงขลาด้วย สัปดาห์ที่แล้วเราฉายภาพกว้างให้เห็นภาพรวมของโครงการกันไปแล้วว่าจะก่อสร้างอะไรบ้าง วันนี้เราพาไปลงพื้นที่ อ.จะนะ เมืองแห่งนกเขาชวา และท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์ เราไปฟังกันว่าชาวบ้านที่นั่นคิดอย่างไร เมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน ติดตามจากรายงานพิเศษ

จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 สายปัตตานี-หาดใหญ่ เลี้ยวเข้าเส้นทางชายทะเลไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่พื้นที่ 3 ตำบล "นาทับ - ตลิ่งชัน - สะกอม" ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ประกาศเป็น "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" เพื่อเตรียมรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในฐานะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"

"ทางทีมข่าวเนชั่นทีวี 22" ได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพในปัจจุบัน ยังเป็นชุมชนชาวประมงที่เงียบสงบ มีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงราย ส่วนที่ดินตรงข้ามชายฝั่งทะเลถูกแปรเป็นสวนยางพารา สวนกล้วย และสวนลองกอง บ้านเรือนส่วนใหญ่มีกรงนกเขาชวาแขวนไว้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเมืองจะนะ ขณะที่พื้นที่บางส่วนกำลังมีการก่อสร้างบังกะโลขนาดย่อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

บรรยากาศโดยรวมที่จะนะยังไม่มีวี่แววของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีการก่อสร้างถึง 6 กิจกรรม ทั้งท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมหนักนานาชนิด

สุทธิ์ชัย หมะเหม ผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ประกอบอาชีพประมง ที่เหลือก็ค้าขายและทำการเกษตร เกือบทั้งหมดทราบแล้วว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรมมาลงที่จะนะ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่าดี แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน"เนชั่นทีวี" แวะเวียนพูดคุยสอบถามชาวบ้านหลายคน ทุกคนยอมรับตรงกันว่าในพื้นที่มีทั้งคนคัดค้านและสนับสนุนโครงการ แต่สิ่งที่ชาวบ้านทุกคนต้องการคือข้อมูลที่ครบถ้วน แท้จริง เพราะเมื่อนิคมอุตสาหกรรมเข้ามา ชาวบ้านต้องปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรงงานไปอีกนาน จึงอยากให้ ศอ.บต.เข้ามาเปิดเวที และนำเสนอข้อมูลทุกด้านให้ชาวบ้านทราบ

ซาเราะ หมัดเสม ชาวประมงใน อ.จะนะ จ.สงขลาตั้งคำถามว่า ท่าเรือน้ำลึกจะมีกี่แห่งกันแน่ เพราะข้อมูลไม่ชัดเจน บางคนบอกว่า 1 แห่ง บางคนบอกว่า 2 แห่ง 3 แห่ง ที่สำคัญถ้าต้องไปทำงานโรงงาน จะมีรายได้ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้อย่างไร เนื่องจากทุกวันนี้ออกทะเล 6 โมงเช้า สายๆ กลับมาก็ได้แล้ว 2,000 บาท

ไม่เพียงแต่ออกเรือหาปลาเท่านั้นที่สร้างรายได้ เพราแต่ละวันชาวบ้านยังปลูกผักขายได้อีก แบบนี้เองที่ ซาเราะตั้งคำถามว่า ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรม จะรับคนอายุเยอะแบบเธอเข้าทำงานหรือไม่ ฉะนั้นเรื่องการจ้างงานที่เป็นผลจากการทำโครงการขนาดใหญ่ อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเธอและครอบครัว

"จะนะ" เป็นเมืองแห่งนกเขาชวา มีการจัดแข่งขันนกเขาชวาเสียงระดับนานาชาติทุกปี มีฟาร์มนกเป็นร้อยแห่ง และมีสนามแข่งนกขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้วย ฉะนั้นเมื่อจะนะกำลังจะแปรสภาพเป็นเขตอุตสาหกรรม ทำให้ จีโอ๊ะ มินหมี เจ้าของนก "เป๊ปซี่ทอง" ราคาตัวละ 2 ล้านบาท แสดงความกังวลเรื่องสภาพอากาศที่อาจกระทบกับนกเขาชวา แต่ก็ยอมรับว่าการมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีงานทำหากมองในมุมอนุรักษ์ แน่นอนว่าย่อมไม่เห็นด้วยกับการตอกเสาเข็มสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะบอกว่า ชาวบ้านที่นี่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน เคยต่อสู้กับประมงอวนรุนที่ทำท้องทะเลเสียหายจนได้รับชัยชนะ สามารฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม วันนี้ทะเลจะนะมีสัตว์น้ำมากกว่า 144 ชนิด โดย 94 ชนิดเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นทะเลแห่งนี้จึงเป็นดั่งแหล่งอาหารของทุกคน ไม่ควรที่ใครจะเอาประโยชน์ไปใช้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ดูเหมือนการเร่งทำความเข้าใจ การเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน จริงใจ และการสร้างระบบที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาครั้งนี้จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คน จะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น